วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประวัติวัดบ่อไร่

ประวัติวัดบ่อไร่

         วัดบ่อไร่ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านบ่อไร่ ( วัดบ่อไร่เดิม เป็น ต.วังตะเคียน อ.เขาสมิง ต่อมาเปลี่ยนเป็น ต.ตากแว้ง อ.เขาสมิง และในปัจจุบันเป็น ต.บ่อพลอย อ.บ่อไร่ ) เป็นวัดแห่งแรกของชาวบ่อไร่ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๐ สร้างโดย ชาวกุหล่า ชนชาวบ่อไร่เดิมนั้นเป็นชนกลุ่มหนึ่ง หรือเผ่าหนึ่ง ซึ่งเรียนตนเองว่าเป็นคนกุหล่า มีภาษาพูดเฉพาะเป็นของตนเอง ได้อพยพมาจากถิ่นฐานต่างๆเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว โดยได้มาอาศัยอยู่ทำมาหากินในทางแสวงโชคลาภ ( มีการทำพลอย ) ทำไร่ทำนา เป็นต้น การติดต่อไปมาหาสู่กันและกันด้วยการเดินเท้า มีผู้ให้ข้อมูล ได้เกิดประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๐ ก็ได้รู้เห็นว่ามีวัดบ่อไร่ และมีพระสงฆ์อยู่แล้ว โดยบวชพระเณรสืบทอดกันมามิได้ขาด
      เจ้าอาวาสปกครองรูปแรกไม่ปรากฏชื่อว่าอย่างไร แต่ผู้ให้ข้อมูลดังกล่าวและมีผู้รู้เห็นเป็นพยานมากมายว่าได้รู้จักมักคุ้นกับ หลวงพ่อปลาย ปกคลุม ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่สมัยนั้น
      ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๐ มีสิ่งก่อสร้างสมบูรณ์แล้ว เช่น กุฏิสงฆ์ ศาลา ( เป็นเรือนไม้มุงโสม มัดเย็บติดกันเป็นผืนๆ ) อุโบสถ สร้างด้วยไม้ฝาไม้กระดาน หลังคาเป็นใบหวายโสม ต่อมาเป็นกระเบื้องเผา เจดีย์ไม้ มีต้นไม้ใหญ่ๆเช่น ต้นไทร ไม้ยาง และอื่นๆ ซึ่งให้รุ่มเงาร่มรื่นเย็นดีมาก
      วัดบ่อไร่เก่านี้ ตั้งแต่เริ่มสร้างแล้วไม่เคยขาดพระภิกษุสามเณรเลย มีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางพรรษามีถึง ๑๐ ถึง ๒๐ รูป นั้นตั้งแต่ หลวงพ่อปลาย ปกคลุม เป็นเจ้าอาวาสแล้ว ต่อมา หลวงพ่ออ่อน ต่อมาหลวงพ่อหลิว บุตรกลิ่น และหลวงพ่อสุข สุธรรม เป็นลำดับมา
      วัดบ่อไร่เดิมนั้นอย่างอื่นๆก็ดูอุดมสมบูรณ์ดี แต่มีปัญหาอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความลำบากแก่พระภิกษุสามเณรเสมอมาคือ ไม่สะดวกในการจัดหาน้ำดื่มน้ำใช้ เพราะเมื่อถึงฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอด ทั้งคลองเล็กและบ่อน้ำ บางปีน้ำขาดแคลนมา พระเณรต้องพากันไปตักน้ำกินน้ำใช้ที่คลอง ท่าน้ำบ้านเจ้หนู 
( ข้างสะพานสี่แยกบ่อไร่ปัจจุบัน ) มาในสมัยพระอาจารย์สุข สุธรรม เป็นเจ้าอาวาสปกครองอยู๋ ฤดูแล้งปีนั้น ถือว่าน้ำขาดแคลนมาก พระภิกษุสามเณรต่างพากันลำบาก ที่วัดไม่มีน้ำใช้เลย ต้องพากันใช้ปี๊บและกระป๋อง หาบน้ำและหามน้ำขึ้นจากท่าน้ำบ้านเจ้หนู ขึ้นมาใช้ที่วัด ซึ่งห่างไกลมาก คณะกรรมการและญาติโยมวัดบ่อไร่เดิมมี กำนันนา ชุ่มเกลี้ยง ( ต่อมาได้รับพระราชทานนาม ตั้งเป็น ขุนเกษตรธนารักษ์ )
เป็นประธานปรึกษาหารือหาทางช่วยเหลือ พอดีได้มีผู้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินเพื่อสร้างวัดบ่อไร่ใหม่ ( ที่อยู่ปัจจุบัน ) ซึ่งขณะนั้นเป็นสวนทุเรียนที่ชาวกุหล่าได้ปลูกไว้ ท่านผู้รู้กล่าวว่า เดิมพื้นที่นั้นเป็นวัดกุหล่ามาก่อน ได้ร้างมานานแล้ว แต่ยังมีเจดีย์ไม้เก่าเหลือไว้ให้เห็น เป็นพื้นที่ๆดีมาก ทิศเหนือติดคลองตลอดแนว สะดวกในการใช้สอยน้ำ และติดต่อธุรกิจการงาน ตลอดถึงญาติโยมใช้เรือมาทำบุญมาทำบุญที่วัด  ( สมัยนั้นใช้เรือเป็นพาหนะ ) 
 พระอาจารย์สุข และกำนันนา พร้อมทั้งคณะญาติโยมมีความเห็นพ้องต้องกันจึงพร้อมใจกันรื้อวัดบ่อไร่เก่า ( พื้นที่ธรณีสงฆ์วัดบ่อไร่ปัจจุบัน ) เดือนธันวาคม ปี พ.ศ.๒๔๗๒ ทั้งพระญาติโยมและศิษย์วัด ต่างได้ช่วยกันขนย้ายสิ่งปลูกสร้างวัดบ่อไร่เก่า มาสร้างวัดบ่อไร่ใหม่ ( ที่อยู่ในปัจจุบัน ) โดยได้สร้างศาลา มีห้องพระอาศัยอยู่ในตัวเสร็จ 1 หลัง และสร้างโบสถ์ ( พื้นเทคอนกรีตฝาไม้กระดาน หลังคามุงกระเบื้องดินเผา )
 พระอาจารย์สุข สุธรรม ถือว่าเป็นผู้นำคณะสงฆ์ ญาติโยม ร่วมกันสร้าง และเป็นเจ้าอาวาสวัดบ่อไร่ใหม่รูปแรก ท่านอยู่ได้นานพอสมควรจึงขอลาสิกขา ( หลังจากลาสิกขาแล้วได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน และกำนันตำบลบ่อพลอย เป็นกำนันอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๖ ต่อมาเป็นกำนันตั๊ง ประคองสิทธิ์ ) หลังจากพระอาจารย์สุข ลาสิกขาแล้ว พระอาจารย์ทำ สุโภ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พัดยศแต่งตั้งเป็น พระครูนิเทศน์รัตนคุณ มีหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์อำเภอเขาสมิง เขตแถบนี้ ส่วนวัดบ่อไร่เก่านั้น ทางวัดบ่อไร่ใหม่มีเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัด ยังแวะเวียนไปดูแลอยู่เสมอ ทั้งยังได้พาเจ้าหน้าที่จังหวัดขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นศาสนสมบัติจังหวัดตราไว้ถึง ๒ ครั้ง " ดังมีบัญทึกไว้ในเลขทุเบียนที่ ๖๖ ที่ดินตั้งอยู่ในตำบลวังตะเคียน อ.เขาสมิง จ.ตราด แผนที่ระวางเลขที่ดินและอาณาเขตของที่ดิน
 - ทิศตะวันออก กว้าง ๓ เส้น 
 - ทิศตะวันตก   กว้าง ๓ เส้น
 - ทิศเหนือ          ยาว ๒ เส้น
 - ทิศใต้               ยาว ๒ เส้น
 ต่อมาเจ้าหน้าที่สำรวจส่งกรมการศาสนา โดย น.ที่ ๒๖๙/๒๔๘๕ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ 
" ทะเบียนที่ดินศาสนสมบัติจังหวัดตราด เลขทะเบียน ๗๘ ของวัดบ่อไร่ ต.ตากแว้ง อ.เขาสมิง จ.ตราด แผนที่ระวางเลขที่ดินและอาณาเขตของที่ดิน
 - ทิศตะวันออก ยาว ๓ เส้น
 - ทิศตะวันตก    ยาว ๓ เส้น
 - ทิศเหนือ       กว้าง ๒ เส้น ๑๐ วา
 - ทิศใต้            กว้าง ๒ เส้น ๑๐ วา "
 ซึ่งการสำราจที่ดินของวัดบ่อไร่เก่านี้ มีหลักฐานในทะเบียนที่ดิน อยู่ทั้งจังหวัดตราด และกรมการศาสนา
   ส่วนทางวัดบ่อไร่ใหม่ ( เดิมมีอาจารย์สุข เจ้าอาวาสรูปแรกได้รับถวายที่ดิน และได้ปลูกสร้างถาวรวัตถุขึ้นมาตามลำดับ แต่ยังมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินเลย )  ซึ่งหลวงพ่อทำ หรือพระครูนิเทศน์รัตนคุณ เจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ท่านทราบรายละเอียดเป็นอย่างดี ต่อมาท่านได้ปรึกษากับคณะกรรมการวัดโดยมี กำนันตั๊ง เป็นประธาน ว่าควรจะแจ้งการครอบครองที่ดินวัด ต่อกรมที่ดินเสียให้ถูกต้อง และในช่วงนั้น นายนิตย์ สุทธิวารี เป็นศึกษาธิการอำเภอเขาสมิง ท่านสนใจงานการพระศาสนามาก ได้ให้ความช่วยเหลือติดต่อประสานงานและดำเนินการ แจ้งการครอบครองที่ดินวัดบ่อไร่ ต่อเจ้าหน้าที่ที่ดิน โดยมีพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับเรียนร้อยแล้ว วันที่ ๒๙ พฤศภาคม พ.ศ.๒๔๙๘ เลขที่ ๗๐ รายละเอียด มีดังนี้ :
 ที่ดิน หมู่ที่ ๓ ตำบลบ่อพลอย อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด
          วันที่ ๓๐ เดือน มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๘ นายนิตย์ สุทธิวารี อายุ ๓๕ ปี เชื้อชาติ ไทย สัญชาติ ไทย ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ บ้านท่ากระท้อน ตำบล เขาสมิง จังหวัดตราด ขอแจ้งการครอบครองที่ดินที่มีผู้อยู่ก่อนประมวลกฏหมายที่ดินบังคับใช้ ต่อนายอำเภอบ่อไร่ดังต่อไปนี้ ที่ดินแปลงข้างต้น เป็นที่ดินของวัดบ่อไร่ ๘๔ ไร่
 ทิศข้างเคียง
 - ทิศเหนือจรดคลอง
 - ทิศใต้     จรดสวนนายดี
 - ทิศตะวันออก จรดกรอก
 - ทิศตะวันตก    จรดกรอก
  โดยทายกถวาย ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ หลักฐานการได้มามือเปล่า สภาพที่ดิน สวนผลไม้

 หลวงพ่อทำ หรือพระครูนิเทศน์รัตนคุณ ถือว่าเป็นผู้มีความรู้ มีความฉลาดสามารถปรับพัฒนา จัดทำสิ่งต่างๆ ในวัดให้อยู่ในระบบ ระเบียบถูกต้อง ทั้งสิ่งที่เป็นสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ เช่นที่ดินทั้งวัดบ่อไร่เดิม ( วัดเก่า ) ได้ให้มีการแจ้งการครอบครองที่ดิน และสำรวจ โดยมีเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ลงทะเบียนที่ดินเป็นศาสนสมบัติจังหวัดตราดมีหลักฐานทะเบียนทั้งที่กรมที่ดินจังหวัดตราด และกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ 
 ตลอดถึงมีการอบรมสั่งสอนพระและญาติโยม มีการเปิดโรงเรียนสอนปริยัติธรรม โดยท่านเป็นผู้สอนเอง ท่านมีความสามารถเรื่องการสอน คือท่านได้สอนทั้งนักธรรม พระเณร และสอนหนังสือเรียนเด็ก และผู้ใหญ่ ( สมัยนั้นตั้งแต่วัดบ่อไร่เก่าและใหม่ วัดเป็นผู้จัดการเรียน การสอนเอง ถือว่าเป็นโรงเรียนวัดที่มีพระเป็นผู้สอน ) ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จำนวนมาก รู้และหนังสือ อ่านออก เขียนได้ ก็เพราะเรียนหนังสือกับพระ 
 ท่านได้ปกครองวัด เป็นเจ้าอาวาสที่มีผู้คนเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ด้วยท่านตรากตรำ คร่ำเคร่งในการงาน ช่วงหลังท่านอาพาธและได้ไปรักษาตังอยู่ที่วัดเกวียนหักจันทบุรี และมรณภาพที่นั่น
 ปี พ.ศ.๒๕๓๐ คณะสงฆ์โดยพระนิม สุธรรม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสได้นำร่างหลวงพ่อทำ หรือพระครูนิเทศน์รัตนคุณ กลับมาบำเพ็ญกุศลที่วัดบ่อไร่ และได้รับพระราชทาานเพลิงศพอย่างสมเกียรติ หลังจากเสร็จงานนี้ไม่นานพระนิม สุธรรม และคณะญาติโยม ได้พร้อมใจกันไปนิมนต์พระอาจารย์จนงค์ อนีโฆ ขุนแก้ว  ( ในขณะนั้นท่านอยู่วัดฆ้อ ) เพื่อขอความเมตตาท่าน ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบ่อไร่ ในปี พ.ศ.๒๕๐๓     
 หลวงพ่อจำนงค์ อนีโฆ ท่านเป็นพระที่มีความเมตตา และยังเป็นพระนักพัฒนาที่น่ายกย่องสรรเสริญ หลวงพ่อท่านได้สร้างสิ่งต่างๆมากมาย เช่น กุฏิแถว ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นคอนกรีต ชั้นบนเป็นไม้ ครัว ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ ถึงน้ำระบบปะปาในวัด และโบสถ์หลังใหม่ นับว่าวัดบ่อไร่เป็นวัดที่ใหญ่โตพอสมควรในเขตอำเภอบ่อไร่